ลูกหมู
คือ เครื่องมือไฟฟ้าที่ใช้ในงานช่างสำหรับการเจียรหรือตัดวัสดุก่อสร้าง ประเภท เหล็ก สังกะสี พีวีซี กระเบื้อง และวัสดุต่างๆมากมาย ตัวเครื่องประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนด้ามจับ เชื่อมต่อกับสายไฟ มีสวิตช์ปิด-เปิด และควบคุมความแรง อีกส่วน คือ มอเตอร์เชื่อมต่อกับใบตัดหรือใบเจียร ช่างชาวบ้านทั่วไปมักจะเรียกเครื่องเจียรว่าลูกหมู ลูกหนูหรือหัวหมูก็มี แต่ส่วนใหญ่มักจะเรียก ลูกหมู มาหลายสิบปีแล้ว น่าจะมาจากการใช้หินเจียร 7 นิ้ว ในสมัยก่อนที่รูปร่างตัวหินเจียรเป็นตัวเรือนโลหะอลูมิเนียมสีเงินหม่นๆ มีรูปร่างคล้ายๆ ลูกหมู ช่างบางคนก็บอกว่า ตัวมันเล็กๆ มีหางดุ๊กดิ๊ก และถ้าไปจับมัน มันจะร้องอี๊ดๆๆๆๆๆๆ เสียงเหมือนลูกหมู และดิ้นสะบัดดิ้นสู้ เหมือนเวลาคุณจับหินเจียร์มือแล้วกดปุ่มให้มันทำงาน จึงได้ชื่อว่า ลูกหมู หรือบางคนก็สงสัยว่าอาจเพี้ยนมาจากคำว่า ลูกหมุน กลายเป็น ลูกหมู นั่นเอง
มาทำความรู้จักกับเครื่องเจียร หรือ ลูกหมูกันค่ะ
เครื่องเจียรที่บางทีก็เรียกว่าลูกหมู จะไม่เหมือนกันกับเครื่องเจียรระไน เครื่องเจียรก็คือเครื่องที่ใช้เจียรหรือตัด ระบบการทำงานคือหมุนหลายรอบต่อนาที เวลาใช้งานต้องใช้โดยให้ตัวเครื่องตั้งฉากซึ่งคนที่ใช้ไม่เป็นหรือไม่เชี่ยวชาญในการใช้งาน หากใช้งานแบบไม่ระมัดระวังจะอันตรายมาก แบบที่เราเห็นในข่าวกันอยู่บ่อยครั้งว่าการใช้งานเครื่องเจียรโดยไม่ชำนาญจะทำให้เกิดการบาดเจ็บได้ดังนั้นแล้วหลักสำคัญก็คือ ก่อนจะใช้งานเครื่องเจียรนั้นเราต้องมั่นใจว่ามีอุปกรณ์ป้องกันความปลอดภัย เช่นหน้ากากหรือถุงมือก่อนการใช้งาน และอย่าลืมศึกษาวิธีการใช้อย่างเคร่งครัดด้วยนะคะ
เครื่องเจียรเป็นอุปกรณ์ที่มีขนาดกะทัดรัดสามารถพกพาได้ง่าย การใช้งานเครื่องเจียรต้องปรับมุมให้พอดีกับวัสดุ และวัสดุที่จะเจียรนั้นต้องอยู่กับที่ ส่วนเครื่องเจียระไนลักษณะเป็นเครื่องที่อยู่กับที่ไม่ได้เคลื่อนย้ายตามการใช้งานแต่ต้องเคลื่อนตัววัสดุแทน เครื่องเจียรนั้นโดยปกติแล้วใช้สำหรับลดขนาดของชิ้นงานลง และยังเป็นเครื่องมือสารพัดประโยชน์สามารถใช้งานได้หลากหลายตามลักษณะใบที่ใช้ โดยใบที่ใช้งานหลักๆก็จะมีดังนี้
1. ใบตัดไฟเบอร์และหินขัดสำหรับเครื่องเจียร เป็นใบตัดที่มีแบบหนาและแบบบาง ถ้าเป็นแบบบางจะสามารถตัดเหล็กจำพวกเหล็กคาร์บอน เหล็กสแตนเลส อลูมิเนียม ทองแดง ถ้าเป็นแบบหนาซึ่งส่วนใหญ่จะใช้แบบนี้มักนิยมใช้เพื่อลบส่วนเกินของงาน แต่งานที่ได้ออกมาจะค่อนข้างหยาบไม่มีความปรานีตเท่าไหร่นัก
2.ใบตัดไม้สำหรับเครื่องเจียร จะเป็นใบที่มีฟัน ฟันก็ยังแยกย่อยเป็นฟันหยาบและฟันละเอียด ถ้าฟันละเอียดการตัดจะทำให้ไม้ไม่แตก ได้รอยที่เรียบขึ้น ตัดได้ไว ไม่มีรอยไหม้ แต่ทั้งนี้ต้องดูประเภทไม้ด้วยว่าเหมาะกับใบเลื่อยแบบฟันละเอียดหรือฟันหยาบ
3. ใบตัดปูนกระเบื้องสำหรับเครื่องเจียร เป็นใบที่ต้องอาศัยการสังเกตอยู่เพราะมีโอกาสที่จะใส่ผิดด้านได้ ซึ่งใบมีหลายแบบ แบบแรก ใบแบบ Segmented ใบฟันร่อง นิยมใช้กันมาก ใช้ได้กับตัดหินตักคอนกรีต งานที่ออกมาจะหยาบ แบบถัดมาคือ ใบแบบ Turbo ใบฟันถี่ มีฟันมากก็สามารถกัดงานได้มาก งานจะทำได้ไวกว่าแบบฟันร่อง แบบที่สาม ใบแบบ Continuoud Rim ใบฟันเรียบ เมื่อใช้แล้วร่องตัดเรียบสวยงามใช้ตัดพวกแผ่นหินอ่อน
4. ลวดถ้วยขัดบางทีก็เรียกแปรงลวดถ้วย หน้าตาเหมือนลวดที่หยักๆ คล้ายกับฝอยขัดหม้อที่ใช้กันตามบ้าน ส่วนใหญ่มักจะใช้กับการขัดสนิม เพราะทำลายเนื้องานน้อย ยิ่งใช้กับเครื่องเจียร ปรับรอบได้ ก็จะยิ่งใช้งานได้ดีขึ้น
5. ใบขัดกระดาษทราย แบ่งเป็นสองแบบ ตามพื้นที่แข็งของใบ ถ้าเป็นใบแข็งแบบเต็มแผ่น มักจะใช้กับงานเรียบ ทำให้งานเป็นทรง ได้รูป อีกแบบคือใบแข็งแบบครึ่งแผ่น ทำให้งานนั้นไม่เป็นทรงเท่าแบบแข็งเต็มแผ่น
ข้อควรระวังในการใช้เครื่องเจียร
1. ควรสวมเครื่องป้องกันตา เสียง ตลอดจนหน้ากากขณะใช้งาน
2. ปรับฝาคลอบฝุ่นและแท่งรองชิ้นงานให้ห่างจากหน้าใบ
3. พื้นที่ทำงานจะต้องโล่งและบริเวณพื้นที่เหมาะสม ดูรอบข้างให้อยู่ในระยะปลอดภัย และไม่มีน้ำมันหรือชนวนที่สามารถติดไฟได้
4. ล็อคใบเจียโดยใช้ประแจที่มาพร้อมกับตัวเครื่อง โดยใช้นิ้วกดปุ่มล็อคเฟืองแล้วใช้ประแจหมุนล็อคใบให้แน่น โดยออกแรงพอประมาณ
5. ตรวจเช็คอุปกรณ์เพื่อความพร้อมในการใช้งาน โดยการปรับล็อคบังใบไปในตำแหน่งที่ต้องการจากนั้นให้ใช้ไขควงหมุนล็อคให้แน่น
6. ขณะใช้งาน ห้ามใช้หน้าใบเจียรงาน (หากไม่ใช่ใบขัด) ห้ามกระแทกใบ ห้ามกดหน้าใบแรงๆ โดยเด็ดขาด
7. ห้ามเค้นหินเมื่อมอเตอร์ช้าหรือชิ้นงานร้อนเกินไป อาจะทำให้ใบแตกและกระเด็นใส่ผู้ใช้งานได้
8. ห้ามยัดชิ้นงานเข้าใส่หินเจียร ห้ามเจียรชิ้นงานชนิดอื่นด้วยหินเจียรที่ไม่ได้ออกแบบมาเพื่อลักษณะงานนั้นๆ
9. หากใบเจียรยังสภาพดีก็ควรใช้จนหมด แต่ถ้าสภาพไม่สมบูรณ์แล้ว ไม่ต้องรอให้หินหมด ควรจะรีบเปลี่ยนเพื่อความปลอดภัยของงานและผู้ทำงาน
10. เมื่อเปิดเครื่อง ผู้ใช้จะต้องทดสอบหมุนหินเจียรก่อนอย่างน้อย 1 นาทีโดยผู้ใช้จะต้องยืนด้านที่หินไม่แตกใส่
11. เมื่อใช้งานเครื่องเจียเสร็จแล้วควรถอดปลั๊กออก แล้วจึงใช้ลมเป่าเพื่อทำความสะอาด
วิธีการดูแลรักษา เครื่องเจียร หรือ ลูกหมู
1. หากมีเครื่องเจียรหลายขนาด ให้เก็บขนาดใหญ่ไว้ข้างล่าง ขนาดเล็กไว้ข้างบน
2. พยายามระมัดระวังอย่าให้เครื่องเจียรตกพื้น
3. หมั่นดูแลเช็คสภาพเครื่องเจียรอย่างสม่ำเสมอก่อนใช้งานและหลังใช้งาน
4. เก็บเครื่องเจียรในที่มิดชิด ในที่แห้งและห่างจากมือเด็ก
5. ใช้ลมเป่าเพื่อทำความสะอาดฝุ่นของเหล็ก
6. ใช้น้ำยาอเนกประสงค์เช็คทำความสะอาด
7. เลี่ยงการเก็บใบไว้ในที่ร้อนและที่ชื้น
Komentar